วันอาทิตย์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2558

มะขามเทศ

      มะขามเทศ พบเห็นกระจายอยู่แทบทุกภาคของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นริมถนนหนทางสวนหลังบ้าน หรือท้องทุ่งนา หรือเกิดขึ้นเองในที่รกร้างเพราะเป็นไม้ผลที่เจริญเติบโตเร็ว ทนทานต่อสภาพแห้งแล้งได้ดีไม่ค่อยมีปัญหาโรค-แมลง เหมาะที่จะปลูกไว้เป็นร่มเงาและพืชบำรุงดิน



การขยายพันธุ์มะขามเทศ : สามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี เช่น การเปลี่ยนยอดการทาบกิ่ง การตอน แต่ที่นิยม ได้แก่ การตอน แต่ต้นที่ได้จากการปลูกด้วยวิธีเพาะเมล็ดจะทนแล้งได้ดีมาก สำหรับวิธีการตอนนั้น ต้องควั่นกิ่งที่บริเวณใต้ตาประมาณ 1 นิ้ว จากนั้นใช้มีดคมๆ ควั่นเปลือกนอกแล้วลอกออก ให้รอยควั่นกว้างประมาณ 1 นิ้ว แล้วใช้กระเปาะขุยมะพร้าวแช่น้ำหมาด ๆ หุ้มรอยควั่น ผูกเชือกหัวท้ายให้แน่น แล้วปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ต้องรดน้ำ ประมาณ 20-25 วันกิ่งตอนก็จะออกราก(ระยะเวลาการเกิดรากขึ้นอยู่กับขนาดของกิ่ง)จึงตัดกิ่งไปปักชำ เมื่อตัดกิ่งตอนจากต้นลงถุงเพาะชำจะต้องทิ้งไว้อีกประมาณ 2 อาทิตย์ จึงจะสามารถย้ายปลูกลงดินได้



การเตรียมดิน : ควรขุดหลุมปลูกให้มีขนาดอย่างน้อย 50 x 50 x 50 เซนติเมตรตากดินไว้อย่างน้อย 2 สัปดาห์ ผสมดินปลูกด้วยปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก ประมาณหลุมละ 2-3 บุ้งกี๋

การปลูก :มะขามเทศสามารถปลูกได้ทั้งแบบยกร่อง-พื้นที่ราบแบบยกร่อง หากเป็นพื้นที่ราบแบบยกร่องจะใช้ระยะปลูก 8-10 x 8-10 เมตร ใน 1 ไร่ จะปลูกได้ประมาณ 16-25 ต้น ส่วนในพื้นที่ราบจะใช้ระยะปลูก10-12 x 10-12 เมตร ในพื้นที่ 1 ไร่ จะปลูกได้ประมาณ 10-16 ต้น
  การดูแลรักษา : 

การให้น้ำ ควรมีการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอทั้งในมะขามเทศต้นเล็กและต้นโตสำหรับมะขามเทศต้นโต ควรงดการให้น้ำในช่วงก่อนออกดอกเช่นเดียวกับไม้ผลชนิดอื่น ๆเพื่อให้มะขามเทศได้พักตัวและสะสมอาหารเตรียมความพร้อมที่จะออกดอกและเมื่อมะขามเทศติดดอกออกฝักแล้ว จึงเริ่มให้น้ำตามปกติแต่ควรระวังในช่วงที่ฝักเริ่มแก่เพราะถ้าให้น้ำในช่วงนี้มากเกินไปจะทำให้คุณภาพฝักไม่ดีฝักแตกเร็วขึ้น ซึ่งจะทำให้ได้คุณภาพเนื้อไม่แน่นและรสชาติไม่ดี

การตัดแต่งกิ่งในมะขามเทศจะทำการตัดแต่งกิ่งเพื่อควบคุมทรงพุ่ม ให้มีลักษณะที่ง่ายต่อการจัดการ โดยจะควบคุมความสูงของต้นไว้ที่ความสูงไม่เกิน 3 เมตร นอกจากนี้การตัดแต่งกิ่งยังมีวัตถุประสงค์อื่นๆ อีก ดังนี้ 

1.เพื่อการปะทะจากแรงลม หากปล่อยให้ทรงพุ่มสูงเกินไป จะเกิดการโน้มตามแรงลมและอาจทำให้พุ่มฉีก-หักได้

2. เพื่อง่ายต่อการจัดการศัตรูพืช การตัดแต่งกิ่งควบคุมทรงทรงพุ่มทำให้ง่ายต่อการจัดการเรื่องโรคและแมลง เนื่องจากต้นที่สูงจะกลายเป็นที่อยู่อาศัยของแมลง เพราะจัดการได้ยาก

3. เพื่อการจัดการแสง ในการตัดแต่งกิ่ง ที่เป็นกิ่งกระโดงหรือกิ่งที่ไม่ให้ผลผลิต ตลอดจนกิ่งที่แห้งตาย ฉีก-หัก ออก ทำให้ทรงพุ่มโล่ง แสงกระจายได้ทั่วถึง ทำให้ลดการสะสมของโรคแมลง ตลอดจนเป็นการเพิ่มคุณภาพในการผลิตอาหารของพืช 

4. เพื่อให้ง่ายต่อการเก็บเกี่ยวผลผลิต

ศัตรูพืชเนื่องจากมะขามเทศเป็นพืชที่มีโรค-แมลงรบกวนค่อนข้างน้อย แต่ถ้าพบแมลงเข้าทำลายให้ใช้น้ำหมักสมุนไพร สูตรดังนี้

++ สูตรน้ำหมักชีวภาพไล่แมลง ++

1. ข่าแก่จัด 5 กิโลกรัม

2. ยาสูบ1 กิโลกรัม

3. บอระเพ็ด มากตามความต้องการ

4. ฝักคูณ มากตามต้องการ

5. กากน้ำตาล 3 ลิตร

6. น้ำ10 ลิตร 

วิธีการทำ : นำมาผสมหมักรวมกันไว้ 25 วัน สามารถนำไปใช้ได้

อัตราการใช้ : น้ำหมัก 1 ช้อนแกง ต่อน้ำ 20 ลิตร ช่วยไล่หนอน แมลงทุกชนิด


การให้ปุ๋ยเน้นการให้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพแทนการใช้เคมี จึงทำให้ประหยัดต้นทุนในการผลิต เนื่องจากมะขามเทศมีการตอบสนองต่อปุ๋ยอินทรีย์ได้ดี สำหรับปุ๋ยอินทรีย์สูตรที่ใช้กับมะขามเทศได้ผล มีดังนี้ 

++ สูตรน้ำหมักชีวภาพจากพุงปลากระตุ้นการแตกใบ-ยอดอ่อน ++

สูตร : 

1.พุงปลานิลหรือปลาชนิดอื่นๆ 3 กิโลกรัม

2.กากน้ำตาล 2 กิโลกรัม

3.น้ำ 10 ลิตร 

การทำ :หมักทิ้งไว้ 1 เดือน สามารถนำไปใช้ได้

อัตราการใช้ :น้ำหมัก 3 ช้อนแกง ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นตอนเย็น 7 วันต่อ1 ครั้ง จะช่วยบำรุงยอดให้แข็งแรง เร่งออกยอดอ่อน โตเร็ว

++ ปุ๋ยหมักชีวภาพสูตรบำรุงต้น ++ 

1. มะละกอ 2 กิโลกรัม

2. ฟักทอง 2 กิโลกรัม

3. กล้วย 2 กิโลกรัม

4. น้ำเปล่า 10 ลิตร

วิธีการทำ : อีเอ็ม 20 ซีซี หมักในภาชนะ ขนาดมีความจุที่ 100 ลิตรทิ้งไว้ 7 วัน ในที่ร่มไม่โดนแสงแดด ครบ 7 วัน

วิธีการใช้ : กรองเอาน้ำ 1 ลิตรต่อน้ำสะอาด 200 ลิตร ฉีดพ่นตรงโคนต้น ทุกๆ 7 วัน 

คำแนะนำเพิ่มเติม : ใช้ได้ทั้งไล่แมลง เร่งดอกเร่งผล ทำให้ผลมีรสชาติที่หวาน อวบ น่าทานได้ราคา มากกว่าที่สวนอื่นมูลสัตว์หรือที่เราเรียกว่าปุ๋ย ขุดโดยรอบโคนต้น ห่างจากต้นประมาณ ครึ่งเมตร วางก้อนมูลสัตว์โดยรอบกันน้ำที่จะรดไหลออกมา และเมื่อฝนตก หรือเรารดน้ำน้ำก็จะซึมซับเอาปุ๋ยคอกค่อยๆซึมลงไปในรากต้นมะขามเทศ นอกจากได้ความสวยงามแล้วยังได้ประโยชน์อีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น